IoT คืออะไร
IoT มีชื่อเต็มว่า Internet of Things เป็นคำที่หลายคนคงเคยได้ยินกันบ้างในยุคปัจจุบัน แต่ก็อาจจะยังไม่รู้ซึ้งถึงความหมายและความสำคัญที่แท้จริง ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตด้านไหน วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Internet of Things หรือ IoT กันให้มากขึ้น
Internet of Things อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) คืออะไร
IoTs หรือ Internet of Things แปลตรงตัวหมายความว่า “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” เป็นชื่อที่ใช้เรียกนวัตกรรมที่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์เหล่านั้น ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ให้บริการ เสมือนกับเป็นการสั่งงานด้วยระบบรีโมทคอนโทรล ควบคุมการทำงานระยะไกล แต่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมการทำงานได้ อาทิเช่น การตั้งคำสั่ง เปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ด้วยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ตโฟน ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการนำเอาข้อดีของอินเตอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
IoTs ทำงานอย่างไร
การทำงานของเทคโนโลยี IoTs นั้น จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประเภท RFID และ Sensors มาผนวกเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเอาสองสิ่งมาร่วมกันทำงานนั้น เปรียบเสมือนการมอบมันสมองให้กับอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีอินเตอร์เน็ตมาเป็นสื่อกลางในการทำให้อุปกรณ์นั้นสามารถทำงานได้ รับส่งข้อมูลถึงกันและกันได้
แม้ว่าการทำงานในรูปแบบ IoTs จะมาพร้อมความสะดวกสบาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีนี้ยังมาพร้อมความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน เพราะในการใช้งานบางส่วนนั้น อาจจะยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ครอบคลุมมากนัก ทำให้สามารถเกิดอันตรายจากการแฮ็คข้อมูลหรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ ดังนั้นแล้ว การใช้งาน IoTs ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควรทำงานภายใต้ระบบความปลอดภัยทางด้านไอทีในระดับที่สูงสุดด้วยเช่นกัน
ต้นกำเนิด IoTs มาจากไหน
IoTs หรือ Internet of Things มีจุดเริ่มต้นในช่วงปี 1982 จากการพัฒนาเครื่องจักรให้สามารถรายงานสภาพแวดล้อมของตัวเครื่องได้ จากนั้นในปี 1999 ก็ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลการใช้ RFID หรือการระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงของการพัฒนาเข้าสู่ยุค Internet of Things เพราะอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เสมือน Client ซึ่งส่งข้อมูลไปยัง server ผ่านการใช้ RFID ในการระบุหรือยืนยันตัวตนของอุปกรณ์ เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่าย Network ขนาดเล็กได้สำเร็จ จนกระทั่งได้รับการต่อยอดในช่วงหลังยุค 2000 ที่แนวคิดเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่มนุษย์เราใช้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น โดยผู้คนสามารถยืนยันตัวตนของอุปกรณ์แต่ละตัวได้ และสามารถจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบ
ประเภทของ Internet of Things
IoTs หรือ Internet of Things แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามการใช้งานจริง ดังต่อไปนี้
1.Industrial IoTs จัดเป็น Inter of Things ที่แบ่งตาม Local Network ที่มีหลายเทคโนโลยีแตกต่างกันในโครงข่าย Sensor Nodes โดยอุปกรณ์ในกลุ่มนี้จะเชื่อมต่อกันในรูปแบบ IP Network เพื่อเข้าสู่อินเตอร์เน็ต
2.Commercial IoTs เป็น Internet of Things ในรูปแบบ Local Communication ที่ตัวอุปกรณ์จะสื่อสารภายในกลุ่ม Sensor Nodes เดียวกันเท่านั้น หรือสื่อสารแบบ Local Devices เพียงอย่างเดียว ผ่าน Bluetooth หรือ Ethernet โดยอาจจะไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
ประโยชน์ของ IoTs หรือ Internet of Things
การที่อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะจะทำให้เกิดความสะดวกสบาย รวดเร็วมากขึ้นในการใช้งาน โดยเฉพาะในแง่ของการสื่อสาร ที่จะสามารถทำให้เกิดประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โดยการใช้ IoTs ในปัจจุบันนั้นมีประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย ดังต่อไปนี้
1.ประโยชน์ทางด้านการโฆษณา
การโฆษณาผ่านทางอินเตอร์ นอกจากจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการประหยัดต้นทุนในการโฆษณาด้วยเช่นกัน แต่ก็มีข้อจำกัดว่าผู้ใช้งานจะต้องอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเท่านั้น ถึงจะสามารถเห็นโฆษณาเหล่านั้นได้ ดังนั้นการนำเอา IOTs มาช่วยในเรื่องของการโฆษณา จะช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในการโฆษณามากขึ้น เพราะผู้คนที่เดินผ่านหน้าร้านสินค้านั้นๆ ก็จะมีภาพโฆษณาขึ้นมาให้เห็นโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการทำงานโดยการตรวจจับได้ผ่านระบบ Sensor นั่นเอง
2.ประโยชน์ทางด้านการแพทย์
วิทยาการการแพทย์ในปัจจุบันนั้น มีการนำเอาเทคโนโลยีหลากหลายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อาทิเช่น การใช้กล้องขนาดเล็กเพื่อการผ่าตัด ลดความเจ็บปวด และเป็นการย่นระยะเวลารักษาให้สั้นลง หากการแพทย์นำเอา IoTs มาประยุกต์เข้ากับการรักษา ก็จะช่วยทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพราะแพทย์จะสามารถใช้เทคโนโลยีฝังชิปไว้ในร่างกายของคนไข้ เพื่อให้เกิดความง่ายในการรักษาหากมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นกะทันหัน
3.ประโยชน์ทางด้านการลดต้นทุน
การลดต้นทุนในที่นี้ก็คือ การลดรายจ่ายต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง อาทิเช่น ต้นทุนในเรื่องไฟฟ้า ที่จำเป็นต้องใช้พนักงานมาตรวจเช็ค จดมิเตอร์ไฟทุกเดือน การใช้ IoTs มาเสริมสร้างในส่วนนี้จะช่วยทำให้สามารถตัดค่าใช้จ่ายออกไปได้ เพราะมิเตอร์จะสามารถส่งข้อมูลค่าไฟแต่ละบ้านไปยังระบบที่คอยบันทึกได้โดยอัตโนมัติ ลดภาระพนักงาน ลดแรงงาน และลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ Internet of Things หรือ IoTs นั้น มีความสำคัญต่อมนุษย์เราในหลายๆ ด้าน หากใช้ในแง่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านบวก ก็จะช่วยทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน